Skip to main content

ก.แรงงาน เปิดการสัมมนาเครือข่ายงานวิจัยด้านแรงงาน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔

pll_content_description

         วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. นางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการสัมมนาเครือข่ายงานวิจัยด้านแรงงาน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมเอสรัชดา เลเซอร์ กรุงเทพมหานคร โดยกล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและคาดไม่ถึง เช่น สถานการณ์โควิด-๑๙ ในปัจจุบัน ที่แม้ว่าจะเสมือนเป็นปัญหาด้านสุขภาพและสาธารณสุข แต่กลับส่งผลกระทบต่อประเทศในหลายๆ ด้าน เช่น ปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกผู้คนตกงาน ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดตัว เกิดวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ New Normal มีการทำงานที่บ้าน ซื้อ-ขายออนไลน์ ประชุมทางไกล และบางกิจกรรมลดหรือหายไป นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกิดจาก Disruptive Technology หรือปัญหาที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีรูปแบบเดิม ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใหม่กว่า ตำแหน่งงานเริ่มเปลี่ยนไปเพราะมีหุ่นยนต์ และเครื่องจักรเข้าไปแทนที่ ประเด็นนี้ยังสะท้อนไปถึงปัญหาที่มากกว่านั้น คือเรื่องของทักษะของแรงงาน และการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคเทคโนโลยีเฟื่องฟูและตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ผันผวนไปตามสถานการณ์และวิกฤตของโลก ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ นอกจากตลาดแรงงานจะเปลี่ยนแปลง แนวโน้มการทำงานของคนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากการวิจัยของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ซึ่งเป็นองค์กรผู้นำด้านการจัดหาบุคลากรและที่ปรึกษาด้านแรงงาน พบว่าแรงงานคนรุ่นใหม่ ต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน ต้องการอาชีพที่มีความคล่องตัวมากกว่าเต็มเวลา ดังนั้น โจทย์ของงานแห่งอนาคต หรือ Future of Work จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับกระทรวงแรงงานและภาคีเครือข่ายด้าน Supply Side ในสถาบันการผลิตกำลังคน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะต้องปรับยุทธศาสตร์หลักด้านการยกระดับและพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ปัญหาที่กล่าวไปข้างต้นเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความรู้และศักยภาพของประเทศในการปรับตัวได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะเห็นได้ว่าประเทศที่มีความพร้อมทั้งทางทรัพยากรและองค์ความรู้ มีการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่ทางออกเชิงนโยบายที่ดีนั้น ย่อมมีความได้เปรียบ เช่น เราจะเห็นการนำโมเดล ที่เรียกว่า Flattening the Curve หรือการพยายามลดจำนวนผู้ติดเชื้อเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-๑๙ ยิ่งรับมือกับโควิด-๑๙ ได้ดีเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็ยิ่งฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ผู้คนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้น ดังนั้นการแก้ปัญหาจำเป็นต้องอาศัยความรู้และการสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับตัวนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาฐานข้อมูลวิจัยด้านแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยการจัดงานสัมมนาครั้งนี้จะช่วยเป็นหนทางไปสู่การพัฒนาการวิจัยด้านแรงงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

          รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาเครือข่ายงานวิจัยด้านแรงงานในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านที่ได้เข้าร่วมสัมมนาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ ที่จะต้องปรับตัวและพัฒนาทักษะให้เข้ากับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์โลก ภาคการศึกษาที่ต้องสร้างคนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ผู้ประกอบการที่ต้องสนับสนุนแรงงานในการพัฒนาศักยภาพ และภาครัฐที่ต้องให้การสนับสนุนทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแรงงานไทย เศรษฐกิจไทย ตลอดจนประเทศไทยให้มีความพร้อมต่อทุกความท้าทายได้อย่างยั่งยืน

          ทั้งนี้ การสัมมนาในวันนี้ มีการนำเสนอผลการศึกษาวิจัย เรื่อง “ศึกษาวิเคราะห์การเข้าสู่ตลาดแรงงานและการทำงานของวัยแรงงานตอนต้นในประเทศไทยแบบมุ่งอนาคต” การอภิปรายในหัวข้อเรื่อง “Developing Youth Employability : รุ่นใหม่วัยต้นกับงานแห่งอนาคต” โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ผู้แทนหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๑๐๐ คน

 

————————————————

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์

 ๒๒ มีนาคม ๒๕๖๔

TOP